1. ความจริง
1.1 ความหมายความจริง (Fact) คือ สิ่งที่เชื่อถือได้ เพื่อจดจำไว้ใช้ในโอกาสต่าง ๆ ลักษณะของความจริงไม่จำเป็นต้องคงที่ แน่นอน คงตัวเสมอไป แต่จะดำรงอยู่ในช่วงระยะเวลาใด เวลาหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไป ปรากฏการณ์ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป ความจริงอาจเปลี่ยนแปลงไป
1.2 ประเภทของความจริง
ความจริงมี 2 ประเภท คือ
1) ความจริงบุคคล (Personal or private Facts) เป็นความจริงที่รับรู้ได้เฉพาะบุคคลนั้น ๆ ความจริงในเรื่องเดียวกัน บุคคลจะรับรู้ต่าง ส่วนใหญ่อยู่ในรูปนามธรรม เช่น ความฝัน ความกลัว เป็นต้น ความจริงประเภทนี้ตรวจสอบได้ยาก
2) ความจริงทั่วไป (Public Facts) เป็นความจริงที่บุคคลได้รับรู้ตรงกัน ส่วนใหญ่เป็นรูปธรรม เช่น ม้ามี 4 ขา เป็นต้น ความจริงประเภทนี้ตรวจสอบได้ง่าย
1.3 ระดับความจริง
1) ความจริงโดยใช้ประสาทสัมผัสโดยตรง (immediate sense of experience) เป็นความจริงที่ได้จากการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 รับรู้ เช่น ผิวสัมผัสความเย็น จมูกรับรู้กลิ่นหอม เป็นต้น
2) ความจริงจากการแปลความจากระดับแรก (Interpreting immediate of experience) เป็นความจริงที่ได้จากการนำความรู้จากระดับประสาทสัมผัสมาแปลความ เช่น ได้ยินเสียงฟ้าร้องแปลความได้ว่าฝนจะตก เป็นต้น
3) ความจริงจากการใช้เหตุผล(Reasoning and Conceptual in nature) เป็นความจริงที่ผ่านการค้นคว้า อย่างมีระเบียบแบบแผน และมีการใช้เหตุผลขั้นสูง
2. วิธีการค้นหาความจริง
วิธีการค้นหาความจริง แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มที่ไม่มีระบบแบบแผน และกลุ่มที่มีระบบแบแผน
1. กลุ่มที่ไม่มีระบบแบบแผน มีดังนี้
1. โดยบังเอิญ (By Chance) เป็นความรู้ที่ได้มาโดยไม่ตั้งใจ กล่าวคือ กระทำเพื่อให้ได้ความจริงเรื่องหนึ่ง แต่บังเอิญได้ความรู้เกี่ยวกับอีกเรื่อง เช่น การค้นพบรังสี เป็นต้น
2. โดยธรรมเนียมประเพณี (By Tradition) เป็นความรู้ที่ได้จาการปฏิบัติสืบถอดกันมาจนกลายเป็นประเพณี จนรู้ว่าในโอกาสต่าง ๆ ควรปฏิบัติตัวอย่างไร เช่น การแต่งกายในพิธีต่าง ๆ เป็นต้น
3. โดยผู้มีอำนาจ (By Authority) เป็นความรู้ที่เป็นแหล่งสำคัญ เพราะมีผลต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ หากเกิดปัญหา ข้อข้องใจ ก็จะถามผู้มีอำนาจให้คำตอบ ผู้มีอำนาจเช่น กษัตริย์ เจ้าเมือง พระ หมอผี ปราชญ์ เป็นต้น
4. โดยผู้เชี่ยวชาญ (By Expert) เป็นความรู้ความจริงที่ได้จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น อยากได้ความรู้เรื่องดาราศาสตร์ ต้องถามผู้ที่ศึกษาดาราศาสตร์ เป็นต้น
5. โดยวิธีลองผิดลองถูก (By Trial and Error) เป็นการค้นหาความรู้โดยการลองทำดู วิธีการใดทำแล้วประสบผลสำเร็จ ได้ผล ก็ยึดเป็นความรู้ แต่วิธีใดล้มเหลวก็เลิกใช้วิธีนั้น ๆ
6. โดยอาศัยประสบการณ์ส่วนตัว (By Personal Experience) เป็นความรู้ความจริงที่ได้จากการสั่งสมความรู้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา คือ ใช้วิธีการใดแก้ปัญหาแล้วได้ผล ก็จะยึดถือเป็นคามรู้ที่ใช้ต่อ ๆ กันมา เช่น ชาวนาปลูกข้าวได้ผลช่วงเวลาใด ก็จะปลูกในช่วงเวลานั้นเป็นประจำ เป็นต้น
โดยสรุป ความรู้ ความจริงของมนุษย์ยุคโบราณยัง ไม่ได้อาศัยหลักเหตุผลใด ๆ มากนัก เพียงได้รับรู้ มาแล้วปฏิบัติตาม เชื่อ หรือยึดถือ ความรู้ความจริงนั้น โดยไม่ได้พิสูจน์ให้แน่ชัด
จุดอ่อนของวิธีการนี้ คือ บางวิธีอาจผิดพลาดได้ เช่น การถามผู้มีอำนาจ หรือหลายวีธีขาดการตรวจสอบที่แน่ชัด
2. กลุ่มที่มีระบบแบบแผน มีดังนี้
2.1 วิธีอนุมาน (Deductive Method)
ผู้เสนอคืออริสโตเติล เชื่อว่า การที่มนุษย์จะรับเอาความรู้ความจริงมานั้น จะต้องอาศัยหลักของเหตุผล ในการจะเชื่อ หรือยึดถือความรู้ความจริงใดจำเป็นจะต้องได้รับการพิสูจน์ก่อน ซึ่งกระบวนการที่ทำให้ได้ความรู้นี้เรียกว่า Syllogistic Reasoning หรือเรียกว่า วิธีอนุมาน (Deductive Method) หรือ Aristotelian Deduction โดยใช้ข้อเท็จจริงที่เป็น “เหตุ” 2 ประการ คือ ข้อความหลัก (Major premise) และ ข้อความย่อย (Minor premise) แล้วอาศัยความสัมพันธ์สรุปเป็น “ผล” (Conclusion) เช่น
ข้อความหลัก นกทุกชนิดมีปีก
ข้อความย่อย กาเป็นนกชนิดหนึ่ง
ข้อสรุป กามีปีก
จุดอ่อนของวิธีการนี้ คือ ความรู้อยู่ในกรอบเดิม ๆ และจะถูกหรือผิดขึ้นอยู่กับข้อความหลัก
2.2 วิธีอุปมาน (Inductive Method)
ยุคฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon) ได้วิจารณ์วิธีอนุมานของอริสโตเติล ว่ามีข้อบกพร่องความรู้อยู่ในกรอบเดิม ๆ และจะถูกหรือผิดขึ้นอยู่กับข้อความหลัก ดังนั้นจึงเสนอวิธีอุปมาน มีขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง คือ
ขั้นที่ 1 เก็บรวบรวมข้อมูลหรือข้อเท็จจริงย่อย
ขั้นที่ 2 วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่าง ข้อเท็จจริงย่อยเหล่านั้น
ขั้นที่ 3 สรุปผล (Conclusion)
เช่น เก็บข้อมูล : จากการสังเกตคนทุกคนเกิดมาแล้วต่อมาก็ตาย
วิเคราะห์ข้อมูล : พิจารณาแล้วเป็นเช่นนี้เรื่อยไป
สรุปผล : คนทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย
หลักอุปมานมี 3 แบบคือ
1. อุปมานแบบสมบูรณ์ (Perfect Induction) เป็นการหาความรู้โดยการเก็บรวบรวม ข้อเท็จจริงจากทุกหน่วยของประชากร แล้ววิเคราะห์ความสัมพันธ์ข้อมูลย่อย แปลความแล้วสรุป
2. อุปมานแบบไม่สมบูรณ์ (Imperfect Induction) เป็นการหาความรู้โดยรวบรวมเพียงส่วนของประชากร (กลุ่มตัวอย่าง) แล้วสรุปอนุมานว่ากลุ่มที่ศึกษานั้นอ้างอิงไปยังกลุ่มประชากรได้
3. อุปมานแบบคอเนี่ยน (Baconian induction) เป็นการหาความรู้ ความจริงโดยตรวจสอบข้อมูลจากการวิเคราะห์ว่า มีสิ่งใดบ้างที่เหมือนกัน มีสิ่งใดบ้างที่ต่างกัน และมีสิ่งใดบ้างแปรเปลี่ยนไป ก่อนลงข้อสรุป
ข้อบกพร่อง พบว่า วิธีการอนุมานนี้ ถ้าการเก็บรวบรวมข้อมูลคลาดเคลื่อน ผลสรุปหรือความรู้ก็จะคลาดเคลื่อนไปด้วย
2.3 วิธีการอนุมาน-อุปมาน (Deductive-Inductive Method)
ชาร์ล ดาร์วิน (Charles Darwin ) นำวิธีอนุมานของอริสโตเติลและวิธีอุปมานของ เบคอน มารวมกัน เพราะเห็นว่าทั้งสองวิธีจะมีประโยชน์อย่างมากในการที่จะค้นความความรู้ความจริง และตรวจสอบความถูกต้องความรู้ความจริงนั้น เมื่อรวมทั้งสองวิธีเรียกว่า วิธีการอนุมาน-อุปมาน เป็น 5 ขั้น
1. ขั้นปัญหา (A felt difficult) ขั้นนี้เกิดจากมนุษย์มีอุปสรรค ไม่สามารถตอบคำถามต่าง ๆ หรืออธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ของสิ่งที่อยากรู้ได้
2. ขั้นนิยามปัญหา (Definition of the difficulty) ขั้นนี้เป็นขั้นที่มนุษย์พยายามทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น และจำกัดขอบเขตของปัญหาให้แจ่มชัด โดยอาศัยการสังเกตและทฤษฎีทีเกี่ยวข้อง
3. ขั้นตั้งสมมติฐาน(Suggested solutions of problem hypothesis) ในขั้นนี้เป็นการลองคิดหาคำตอบปัญหาที่ตั้งไว้
4. ขั้นตรวจสอบความถูกต้องและเหตุผลของสมมติฐานที่ตั้งขึ้นโดยวิธีอนุมาน ขั้นนี้เป็นการศึกษาประสบการณ์ เอกสาร ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความคิดรวบยอด เพื่อนำไปตรวจสอบสมมติฐานว่าสมเหตุ สมผลหรือไม่
5. ขั้นทดสอบสมมติฐานโดยการปฏิบัติ(Testing hypothesis by action) เป็นการลงมือปฏิบัติเพื่อทดสอบสมมติฐานได้แก่ การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และลงข้อสรุป
วิธีนี้เป็นต้นตอของวิธีวิทยาศาสตร์
2.4 วิธีวิทยาศาสตร์ (Scientific Methods)
จากการที่ชาร์ล ดาร์วิน ได้นำวิธีอนุมานและอุปมานมารวมกันเป็นวิธีเดียวกัน และจอห์น ดิวอี้ (Jhon Dewey) เรียกวิธีการนี้ว่า การคิดแบบใคร่ครวญ (Reflective thinking) ต่อมาได้กลายเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ มีด้วยกัน 5 ขั้นตอน คือ
1. ขั้นปัญหา (Problem)
2. ขั้นตั้งสมมติฐาน (Hypothesis)
3. ขั้นเก็บรวบรวมข้อมูล (Collection of data)
4. ขั้นวิเคราะห์ข้อมูล (Analysis of data)
5. ขั้นสรุปผล (Conclusion)
2.5 วิธีการวิจัย (Research Method)
วิธีการวิจัยเป็นวิธีการที่มีลักษณะเช่นเดียวกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
1. ขั้นกำหนดประเด็นปัญหา
2. ขั้นทบทวนสารสนเทศ
3. ขั้นเก็บรวบรวมข้อมูล
4. ขั้นวิเคราะห์ข้อมูล
5. ขั้นลงข้อสรุป
เอกสารอ้างอิง
รัตนะ บัวสนธ์. ปรัชญาวิจัย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2551.
พวงรัตน์ ทีวรัตน์. วิธีการวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์และสังคมศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2540.
ไพศาล วรคำ. การวิจัยทางการศึกษา. กาฬสินธุ์ : ประสานการพิมพ์, 2552.
สภาวิจัยแห่งชาติ. แนวทางการปฏิบัติจรรยาบรรณนักวิจัย. กรุงเทพฯ : สภวิจัยแห่งชาติ, 2541.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น